บทความสุขภาพ

บอกลาความทรมานจาก ‘ริดสีดวง’ ด้วยเทคโนโลยี HAL-RAR

 

 

บอกลาความทรมานจาก ‘ริดสีดวง’ ด้วยเทคโนโลยี HAL-RAR

 

ปัญหาท้องผูกจากรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย หรือใช้เวลาเบ่งถ่ายอุจจาระนาน อาจเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิด‘ริดสีดวงทวารหนัก’ ซึ่งแม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรงส่งผลต่อชีวิต แต่กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ก่อให้เกิดความทรมานไม่ว่าจะนั่งหรือยืน มีอาการคันและเจ็บปวดบริเวณทวารหนัก อีกทั้งยังมีเลือดออกหลังการอุจจาระ
 
สำหรับค่าเฉลี่ยของการขับถ่ายที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ อย่างน้อย 3 ครั้ง/สัปดาห์ เมื่อขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์ จึงจะเข้าข่ายท้องผูก และหากมีอาการเช่นนี้ต่อเนื่องเป็นเดือนขึ้นไปจัดว่าเข้าสู่ภาวะท้องผูกเรื้อรัง
 
ผู้ที่มีพฤติกรรมอั้นอุจจาระ หรือมีเหตุจำเป็นต้องอั้นอุจจาระบ่อยครั้ง รวมไปถึงการใช้เวลานั่งอ่านหนังสือ หรือเล่นสมาร์ทโฟนระหว่างการขับถ่ายเป็นเวลานาน ก็อาจส่งผลให้เกิดการคั่งของเลือดในหัวริดสีดวงทวารหนัก
 
ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคนิคการรักษาแนวทางใหม่โดยไม่อาศัยการผ่าตัด ช่วยลดอัตราการบาดเจ็บ ลดความทรมานลดภาวะแทรกซ้อน และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว กลับมาขับถ่ายอย่างสะดวกได้ตามปกติ
 
‘ริดสีดวงทวารหนัก’ เป็นภาวะที่หลอดเลือดบริเวณทวารหนักเกิดการปูดพองบางครั้งอาจมีการปริแตกของผนังหลอดเลือดขณะเบ่งถ่ายอุจจาระร่วมด้วย จึงทำให้มีเลือดออกเป็นครั้งคราว อาการของโรคมักปรากฏเมื่อท้องผูกบ่อยครั้ง
 
โดยริดสีดวงทวารหนักสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
  • ริดสีดวงนอก อยู่ด้านนอก ปกคลุมด้วยผิวหนัง มีก้อนนูนและคลำพบได้บริเวณทวารหนัก มักมีอาการปวด บวมระคายเคือง
  • ริดสีดวงใน อยู่ลึกเข้าไปด้านในปกคลุมด้วยเยื่อบุลำไส้ มีก้อนนูนยื่นออกมาจากด้านใน และอาจมีเลือดออกที่ทวารหนักระหว่างหรือหลังการขับถ่ายมักไม่มีอาการเจ็บ แต่หากเกิดลิ่มเลือดอุดตันจึงจะเจ็บปวด
 
สำหรับโรคริดสีดวงทวารหนักในระยะเริ่มแรก สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการรับประทานยา หรือใช้ยาเหน็บร่วมกับการดูแลตนเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น เน้นรับประทานอาหารที่มีกากใย ดื่มน้ำให้เพียงพอ และฝึกการขับถ่ายเป็นเวลา ส่วนระยะถัดมาอาจรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ เพิ่มเติมเช่น การรัดยาง การเย็บหัวริดสีดวงเป็นต้น สำหรับระยะที่เป็นหนักมากแล้ว ส่วนใหญ่แล้วแนะนำรักษาด้วยการผ่าตัด แต่การผ่าตัด ทำให้มีแผลบริเวณปากทวารหนัก และต้องใช้เวลาพักฟื้นค่อนข้างนาน
 
แต่ปัจจุบันมีเทคนิคในการรักษาโรคริดสีดวงทวารหนักแนวทางใหม่ เรียกว่า (Haemorrhoidal Artery Ligation andRecto Anal Repair) หรือ HAL-RAR ซึ่งประยุกต์การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Doppler Ultrasound) เข้ามาช่วยตรวจหาตำแหน่งของเส้นเลือดแดงที่มาเลี้ยงหัวริดสีดวงทวารหนัก แล้วทำการเย็บผูกรัดหลอดเลือดแดง เพื่อลดความดันเลือดที่ไปขยายขนาดของหัวริดสีดวงทวารให้ลดลง ทำให้หัวริดสีดวงหดเล็กโดยไม่ตัดหัวริดสีดวงหรือเยื่อบุทวารหนักใด ๆ ทั้งสิ้น และสามารถรักษา
 
ด้วยการเย็บผูกและดึงรั้งเนื้อริดสีดวงกลับเข้าไปภายในทวารหนักได้ โดยไม่มีการตัดเนื้อเยื่อ ซึ่งหัวริดสีดวงจะค่อย ๆ ลดขนาดลงภายใน 3-4 สัปดาห์ ข้อดีของการรักษาริดสีดวงทวารหนัก ด้วยเทคโนโลยี HAL-RAR นี้ ช่วยลดอัตราการบาดเจ็บ ลดความทรมาน ลดภาวะแทรกซ้อน และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วกลับมาขับถ่ายอย่างสะดวกได้ตามปกติ
 
ปฏิบัติตนอย่างไร ห่างไกลริดสีดวงทวารหนัก
แม้ว่าความก้าวล้ำทางการแพทย์ จะมีการรักษาที่ช่วยลดอัตราการเจ็บปวดให้น้อยลงแล้ว แต่อย่างไรก็ดี เราควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ เลือกรับประทานอาหารที่มีกากใย ดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หม่นั สังเกตระบบขับถ่ายของตนเอง และฝึกการขับถ่ายให้เป็นกิจวัตร ตลอดจนเลี่ยงการนั่งนาน ๆ เช่น ไม่ควรนั่งเล่นสมาร์ทโฟน หรืออ่านหนังสือระหว่างเบ่งถ่ายอุจจาระในห้องน้ำเป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดโรคริดสีดวงทวารหนัก หรือป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก
 
ศัลยแพทย์
 

 

"โรคต้อกระจก’ ภาวะแห่งวัย ด่วนดูแลและแก้ไข ก่อนสูญเสียการมองเห็น"

 
 

‘โรคต้อกระจก’ ภาวะแห่งวัย ด่วนดูแลและแก้ไข ก่อนสูญเสียการมองเห็น

 

สาเหตุของโรคต้อกระจก
โดยทั่วไปแล้วโรคต้อกระจกเกิดจากความเสื่อมและขุ่นตัวของเลนส์แก้วตาตามอายุ ส่วนใหญ่มักพบในผู้มีอายุ 55 ปีขึ้นไป แต่บางรายอาจพบได้เร็วกว่านั้น สำหรับปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคต้อกระจก มีดังนี้
  • ความเสื่อมของเลนส์แก้วตาตามอายุ ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ
  • ความผิดปกติแต่กำเนิด
  • โรคภายในลูกตา เช่น ม่านตาอักเสบ ตาติดเชื้อ ได้รับอุบัติเหตุทางตา
  • ภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่น ๆ เช่น เบาหวาน
  • การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ เช่น ยาหยอด ตา ยาพ่น ยารับประทาน หรือยาฉีด
  • สภาวะแวดล้อมและการดำรงชีวิต เช่น การใช้สายตากลางแสงแดดจ้าเป็นเวลานาน
 
การรักษาโรคต้อกระจก
ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำให้มีเครื่องมือสลายเลนส์ต้อกระจก และสามารถรักษาด้วยการผ่าตัดแบบแผลเล็ก (Minimal Invasive Surgery) ซึ่งขนาดแผลที่เล็กลงนี้มีข้อดีหลายประการ อาทิ ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อน มีความปลอดภัยสูง โดยหลังจากแพทย์ทำการสลายเลนส์ต้อกระจกแล้ว แพทย์จะใส่เลนส์แก้วตาเทียมให้กับผู้ป่วยโดยเลือกเลนส์ที่เหมาะสมกับสายตา เลนส์แก้วตาเทียมแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่
  • เลนส์เทียมชนิดโฟกัสระยะเดียว (Monofocal IOL) เลนส์ชนิดนี้จะช่วย ให้มองไกลคมชัด แต่เวลามองใกล้ เช่น อ่านหนังสือ จะต้องอาศัยแว่นสายตาช่วย
  • เลนส์เทียมชนิดโฟกัสหลายระยะ (Multifocal IOL) ช่วยให้สามารถมองไกลและใกล้ได้
 
สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาสายตาเอียงค่อนข้างเยอะจะมีเลนส์ชนิดพิเศษ คือ เลนส์สายตาเอียง (Toric IOL) ทั้งแบบโฟกัสระยะเดียว และแบบโฟกัสได้หลายระยะ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้การมองเห็นของผู้ป่วยดียิ่งขึ้น
 
การดูแลตนเองหลังผ่าตัด
หลังจากรักษาด้วยการผ่าตัดแล้ว แผลที่กระจกตาจะหายได้ดีและแข็งแรงภายใน 1 เดือน ดังนั้น ภายใน 1 เดือนแรกผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องระมัดระวังไม่ให้น้ำ ฝุ่นควันเข้าดวงตา โดยควรสวมใส่แว่นตากันแดดป้องกัน และปิดที่ครอบตาก่อนนอนเพื่อป้องกันการขยี้ตา นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงการก้มหน้า การยกของหนัก และการเบ่งแรงที่เพิ่มความดันตา นอกจากนี้ ให้หมั่นหยอดตา เช็ดตาและดูแลรอบดวงตาตามที่แพทย์แนะนำ

จักษุแพทย์
 
 
 

ปวดหัว’ อย่างไรคืออาการทั่วไป และกรณีใดต้องรีบพบแพทย์

‘ปวดหัว’ อย่างไรคืออาการทั่วไป และกรณีใดต้องรีบพบแพทย์

 

อาการปวดศรีษะ เป็นโรคยอดฮิต ของทุกเพศทุกวัย โดยอาการปวดศีรษะส่วนใหญ่ที่พบได้บ่อยมักเป็นชนิดไม่รุนแรง สามารถรักษาได้ด้วยการดูแลตนเอง หรือรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ แต่ในบางกรณี อาจเกิดจากเนื้องอกในสมอง หรือโรคร้ายแรงอื่น ๆ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะควรรู้คือ อาการปวดแบบไหนเป็นชนิดไม่รุนแรง และอาการปวดแบบไหนเป็นอันตรายและควรรีบพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที ลองมาดูกันว่าอาการเหล่านั้นมีอะไรบ้าง

อาการปวดศีรษะชนิดรุนแรง

บางกรณีอาการปวดศีรษะ อาจมีสาเหตุมาจากโรคร้ายแรงในสมองเช่น เลือดออกในสมอง ติดเชื้อในสมอง หรือ เนื้องอกในสมอง ถึงแม้จะพบไม่บ่อย แต่จำเป็นต้องรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT-Scan หรือ ตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI เป็นต้น โดยอาการปวดศีรษะที่ต้องรีบพบแพทย์มีดังนี้
  • ปวดศีรษะเฉียบพลัน และรุนแรงขึ้นมาทันที โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยมีอาการปวดศีรษะ แบบเป็น ๆ หาย ๆ มาก่อน
  • ปวดศีรษะมากขึ้นเรื่อย ๆ ปวดขึ้นทุกวัน ทานยาแก้ปวดแล้วก็ไม่ดีขึ้น
  • ปวดมากจนไม่สามารถนอนหลับได้หรือปวดมากจนตื่นกลางดึก
  • มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่นไข้ ตามัว เห็นภาพซ้อน ชาแขนขาแขนขาอ่อนแรง คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง
  • เป็นการปวดศีรษะครั้งแรก หลังอายุ 50 ปี
สำหรับผู้ที่ไม่มีลักษณะอาการตามที่ระบุมาข้างต้น ก็มักจะเป็นอาการปวดศีรษะชนิดที่ไม่รุนแรง โดยอาการที่พบได้บ่อยยกตัวอย่างเช่น
 

อาการปวดศีรษะชนิดไม่รุนแรง

  • ปวดศีรษะจากความเครียด (TensionType Headache) พบมากที่สุดในทุกช่วงอายุ เกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะ ซึ่งกระตุ้นจากความเครียด พักผ่อนน้อย หรือการกระทำที่ส่งผลให้กล้ามเนื้อคอ บ่าไหล่ เกร็งหรือตึง มีลักษณะปวดแบบตื้อ ๆ มึน ๆ (Dull Aching) เหมือนมีอะไรมาบีบรัดบริเวณหน้าผาก ขมับ หรือท้ายทอย อาการปวดมักเป็นไม่มาก อาจปวดได้ตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมงจนถึงหลายวัน

    การรักษาเบื้องต้น อาจรับประทานยาแก้ปวดชนิดพาราเซตามอล และพักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด อาการจะดีขึ้นหลังจากนั้น
     
  • ปวดศีรษะไมเกรน พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ช่วงวัยรุ่นถึงวัยกลางคน อาการปวดค่อนข้างจำเพาะ มีลักษณะปวดตุ๊บ ๆ (Throbbing) บริเวณขมับ ร้าวมาที่กระบอกตา หรือร้าวไปท้ายทอยมักปวดบริเวณข้างใดข้างหนึ่ง แต่บางราย อาจปวดทั้ง 2 ข้าง ส่วนใหญ่จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย และอาจมีอาการกลัวแสงหรือกลัวเสียง (Photophobia, Phonophobia) มีอาการนำก่อนปวด เช่น เห็นแสงผิดปกติ ทั้งนี้ อาการปวดมักมีปัจจัยกระตุ้นชัดเจน เช่น อากาศร้อน ความเครียดกลิ่นบางชนิด เช่น น้ำหอม บุหรี่ อาหารบางชนิด เช่น ชีส ชอกโกแลต หรือรอบประจำเดือน เป็นต้น ระดับความปวดจะปวดมากกว่าชนิดแรก ตั้งแต่ปวดปานกลางไปจนถึงรุนแรงได้ มักจะมีอาการปวดอยู่นาน 4-72 ชั่วโมง

    การรักษาเบื้องต้น แนะนำให้นอนพักและอยู่ในที่เงียบ สงบ แสงไม่จ้าจนเกินไป หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ อาจรับประทานยาแก้ปวดชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น Naproxen,Ibuprofen หรือรับประทานยาแก้ปวดไมเกรน เช่นกลุ่ม Ergot, Triptans แต่ควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์
     
  • ปวดศีรษะชนิดคลัสเตอร์ (Clusterheadache) พบได้รองลงมา มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และวัยกลางคนขึ้นไป เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของระบบประสาทสมองคู่ที่ 5 และหลอดเลือดที่เกี่ยวข้อง รวมถึงระบบประสาทอัตโนมัติ มีลักษณะอาการปวดศีรษะเป็นชุด ๆ มักปวดเวลาเดิม ๆ ปวดติดต่อกันระยะเวลาหนึ่งแล้วหายไป อาการปวดแต่ละครั้งมักไม่นานมาก ประมาณ 1 ชั่วโมง แต่จะปวดรุนแรงกว่าไมเกรน ตำแหน่งมักปวดที่รอบกระบอกตา และอาจมีอาการตาแดง น้ำตาไหล น้ำมูกไหลหนังตาตกร่วมด้วยได้

    การรักษาเบื้องต้น เวลามีอาการปวดผู้ป่วยมักจะกระสับกระส่าย นอนนิ่ง ๆ ไม่ได้ การดมออกซิเจน และใช้ยาแก้ปวดที่จำเพาะ จะช่วยลดอาการปวดศีรษะได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการปวดจึงควรมาพบแพทย์
 
อย่างไรก็ตาม อาการปวดศีรษะมีได้หลายชนิด และมีวิธีการรักษาที่ต่างกัน หากไม่แน่ใจอาการ ควรปรึกษาและพบแพทย์เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง ไม่ควรซื้อยารับประทานเองเนื่องจากอาจจะมีผลข้างเคียงจากยาหรือเกิดภาวะใช้ยาแก้ปวดเกินขนาดจนทำให้มีอาการปวดศีรษะได้

พญ.ศุภมาศ วิบูรณ์สุขสันต์
อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท

 

ปวดท้อง อย่ามองข้าม มะเร็งตับอาจถามหา

 

 

ปวดท้อง อย่ามองข้าม มะเร็งตับอาจถามหา

 

     อาการปวดท้อง โรคทั่วไปที่หลายๆคนเป็นกัน ซึ่งโดยปกติอาจเกิดจากอาหารไม่ย่อย ท้องอืด ฯลฯ แต่ในทางตรงกันข้ามอาการปวดท้องเพียงเล็กน้อย อาจมีสาเหตุมาจากโรคร้ายแรงต่างๆได้ เช่น นิ่วในถุงน้ำดี หรือ แม้กระทั่งมะเร็งตับ
       มะเร็งตับสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ มะเร็งที่มีต้นกำเนิดจากเซลล์ของตับเองและมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่น เช่นมะเร็งลำไส้ใหญ่ลุกลามมาที่ตับ สำหรับมะเร็งที่มีต้นกำเนิดจากเซลล์ของตับเองประกอบด้วยมะเร็ง 2 ชนิด ได้แก่ มะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งพบมากในภาคเหนือและอีสาน เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้มักจะพบในคนที่ชอบกินปลาร้าและปลา หอยน้ำจืด สุกๆดิบๆ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของพยาธิใบไม้ในตับ มะเร็งอีกชนิดคือ มะเร็งเฮปปะโตม่า (Hepatoma) ซึ่งมักพบในภาวะตับแข็งจากสาเหตุต่างๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบบี , ไวรัสตับอักเสบซี หรือแอลกอออล์
 
       สำหรับอาการของมะเร็งตับ ในระยะเริ่มต้นของโรคอาจจะยังไม่มีอาการใดๆ แต่หากมีอาการเหล่านี้ต้องรีบมาพบแพทย์ด่วน
  1. แน่นท้อง ในตำแหน่งของลิ้นปี่หรือชายโครงขวา
  2. น้ำหนักลด
  3. เบื่ออาหาร
  4. ปวดไหล่ข้างขวาที่ไม่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของหัวไหล่ เนื่องจากมะเร็งมีขนาดใหญ่และลุกลามไปบริเวณกระบังลมอาจทำให้เกิดอาการปวดไหล่ได้ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าปวดกล้ามเนื้อแต่จริงๆแล้วเรามีก้อนอยู่ที่ตับ
  5. ตาเหลือง
       ขั้นตอนการตรวจหามะเร็งตับ
  1. ซักประวัติและตรวจร่างกาย
  2. ตรวจเลือด ดูค่าการทำงานของตับและค่ามะเร็งตับรวมถึงไวรัสตับอักเสบบีและซี
  3. ตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวน์ เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
       
       การรักษาโรคมะเร็งตับ
       การรักษามะเร็งตับนั้นขึ้นกับการทำงานของตับ การลุกลามของมะเร็งและสภาพร่างกายทั่วไปของผู้ป่วย
  1. การผ่าตัดนำก้อนมะเร็งออกยังคงเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุดถ้าสภาพทั่วไปของผู้ป่วยพร้อมที่จะผ่าตัดและก้อนมะเร็งไม่ลุกลามอีกทั้งการทำงานของตับดีพอ
  2. การปลูกถ่ายตับสามารถทำได้ในกรณีของมะเร็งชนิดเฮปปะโตม่า (Hepatoma) ระยะเริ่มแรกและมีภาวะตับแข็งที่รุนแรงจนไม่สามารถผ่าตัดเอาก้อนออกได้
  3. การใช้เข็มความร้อนเฉพาะที่เรียกว่า RFA (radiofrequency ablation) เป็นการทำลายเนื้องอกด้วยความร้อนโดยใช้เข็มแทงเข้าไปในก้อนแต่ต้องเป็นก้อนที่มีขนาดเล็ก และอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
  4. การให้ยาเคมีบำบัดเฉพาะที่รวมทั้งอุดตันเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงเนื้องอก ( TACE, transarterial chemoembolization) สำหรับมะเร็งเฮปปะโตม่า (Hepatoma)
  5. การให้ยาเคมีบำบัดทางเส้นเลือดดำในมะเร็งท่อน้ำดีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้หรือมะเร็งจากอวัยวะอื่นที่แพร่กระจายมาที่ตับ
       การป้องกันมะเร็งท่อน้ำดีและมะเร็งตับสามารถทำได้โดย
  1. หลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์น้ำจืดสุกๆดิบๆ หากต้องการรับประทานปลาร้า ควรจะเป็นปลาร้าต้มสุก
  2. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ่อยๆ
  3. มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยเนื่องจากไวรัสตับอักเสบบีและซี ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งเฮปปาโตม่า (Hepatoma) สามารถติดต่อทางเลือดและเพศสัมพันธ์
 
สาระความรู้ดีดีจาก : www.vejthani.com
 
 
Visitors: 18,084